มุ่งมั่น มั่นใจ คิดบวก ไม่กลัว


มุ่งมั่น

การมีความทรหด และความเข้มแข็งพอที่จะมองข้ามอุปสรรคในการทำงาน แม้ว่ามันจะยากลำบากเพียงใด ความมุ่งมั่นคือการตั้งอกตั้งใจที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จ การมีความมุ่งมั่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เมื่อเรามีเป้าหมายแล้ว เราก็มี “ความมุ่งมั่น”เป็นตัวขับเคลื่อน เป็นแรงพลังที่จะส่งตัวเราไปยังจุดมุ่งหมาย ให้ได้สำเร็จได้


มั่นใจ

การมีความรู้สึกในเชิงบวกต่อสิ่งที่เราสามารถทำได้ และไม่กังวลในสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ โดยที่เรายังคงมีความปรารถนาที่จะเรียนรู้สิ่งดังกล่าวอยู่เสมอ ทั้งนี้ความมั่นใจก็คือการศรัทธาในตนเอง เชื่อมั่น เชื่อถือในคุณค่า ความสามารถ รูปลักษณ์ บุคลิกลักษณะ ตลอดจนความรู้และหัวใจของตนเองทำให้ไม่มีความประหม่า มีความกล้า ความแน่ใจ ที่จะเดิน จะลุกจะนั่ง จะทำ จะพูดจะคิด หรือ แสดงออกต่อหน้าสาธารณชนได้อย่างสร้างสรรค์และมีความสุข


คิดบวก

การพยายามหามุมมองที่แตกต่างออกไปจากมุมมองปกติที่เราเคยเป็นมองให้เป็นบวกมองสิ่งต่างๆรอบๆตัวเราในแง่ที่ดี ไม่ว่ามองตัวเรา เพื่อนร่วมงาน หรือการมองสิ่งต่างๆอย่างเข้าใจ ยอมรับได้ในด้านลบ มองปัญหา ความทุกข์ ความไม่ราบรื่นเป็นเรื่องธรรมดา หากรู้จักเลือกใช้ประโยชน์จากด้านบวกที่แฝงอยู่จากสิ่งนั้นๆ ได้ เหตุการณ์บางอย่าง เราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้เกิดหรือไม่ให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นไปแล้ว เราเลือกได้ว่าจะมองและรู้สึกกับมันอย่างไร เช่น

“เวลาเราเจองานหนัก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือโอกาสในการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นมืออาชีพ”

หรือ

“เวลาเจอความทุกข์หนัก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือแบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เกิดทักษะในการดำเนินชีวิต”

ถ้าเมื่อไรที่เราคิดเชิงบวกเราจะมีความสุข ชีวิตมีคุณภาพ เพราะว่าถ้ามีสุขภาพจิตดีแล้วก็สามารถมีพลังต่อสู้กับชีวิตดีขึ้น


ไม่กลัว

การใช้สติคอยเหนี่ยวรั้งไม่ให้เราทำอะไรไปในสิ่งที่ไม่สมควร เช่น เกิดความโกรธ เกิดความกลัว เกิดความเกลียด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นประจำ สุดแต่ว่าเรากระทบกับอารมณ์ใด และจิตเคยแสดงออก หรือพยายามอดกลั้นอยู่ภายในและรู้จักขจัดอารมณ์เสียออกให้ได้ ก็จะเกิดผลดีแก่ตัวเราเอง และแก่คนที่อยู่รอบ ๆ ข้างเรา ความกลัว เป็นสัญชาติญาณส่วนลึกของมนุษย์และสัตว์ทั่วไป ความกลัวสามารถทำลายบุคลิกภาพและทำลายสุขภาพร่างกายได้อย่างมากมาย ยิ่งกว่าอารมณ์ชนิดใด ความกลัวจะทำให้ท่านหมดความเชื่อมั่นในตนเอง แท้จริงความกลัว คือภาพหลอนชนิดหนึ่งในจิตใจคนเรา คนที่ขี้ขลาดและขี้กลัวมักจะ เป็นคนที่ไม่มีเหตุผล และเป็นคนที่ไม่รู้จักความจริง คนที่เข้าถึงความจริงแห่งชีวิตแห่งจิตใจจะเป็นคนที่ไม่รู้จักกลัว พุทธศาสนากล่าวว่า พระอรหันต์ซึ่งเข้าถึงอริยสัจ 4 เป็นผู้ที่ไม่มีความกลัวเหลืออยู่เลย แต่คนธรรมดา ปุถุชนที่ยังมีกิเลสอยู่ย่อมจะต้องมีความกลัวบางสิ่งบางอย่างเป็นธรรมดา